โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบของผู้สูงอายุที่อาจไม่รู้ตัว
เมื่อเวลาผ่านไป อายุที่เริ่มมากขึ้น ความแข็งแรงของกระดูกย่อมเสื่อมถอยลดลงตามกาลเวลา ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่คิดว่าไกลตัว และไม่มีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีโอกาสพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สูงกว่าถึง 4 เท่า เนื่องจากกระดูกที่มีขนาดเล็กกว่า โดยเฉพาะสตรีวัยหมดระดู หรือวัยหมดประจำเดือนส่งผลต่อการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า “เอสโตรเจน” เป็นช่วงที่มีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว
ภาวะกระดูกพรุนในระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่มวลกระดูกค่อยๆ สลายตัวลดลงเรื่อยๆ จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่รอเวลาที่พร้อมจะทำให้กระดูกหักด้วยแรงกระทำเพียงเล็กน้อย เช่น การชน การกระแทก การหกล้มเบาๆ เป็นต้น จุดที่มีความอันตรายมากที่สุดและมักพบได้บ่อย คือ บริเวณกระดูกสันหลัง หรือกระดูกสะโพก จะส่งผลทำให้เกิดความพิการ คุณภาพชีวิตแย่ลง และบางครั้งอาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกพรุน
แม้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้กับทุกเพศทุกวัย และพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุเนื่องจากมวลกระดูกที่ลดลง หากรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และช่วยป้องกันการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่
- ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือ ผู้ชายตั้งแต่อายุ 70 ปีขึ้นไป
- เป็นผู้หญิงที่น้ำหนักน้อย (ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19)
- มีรูปร่างผอมบาง
- เคยผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างก่อนอายุ 45 ปี เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว
- มีประวัติกระดูกพรุนในครอบครัว
- การบริโภคแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ
- สูบบุหรี่ สารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง
- ดื่มกาแฟ ชา แอลกอฮอล์มากกว่า 3 แก้วต่อวัน หรือน้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋องต่อสัปดาห์
- ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์นานเกิน 3 เดือน หรือใช้เป็นประจำ
- ขาดการออกกำลังกาย
รู้ทันภาวะกระดูกพรุนด้วยการตรวจวัดมวลกระดูก Bone Mineral Density (BMD)
การตรวจวัดมวลกระดูก Bone Mineral Density (BMD) ด้วยเครื่องมือรังสีชนิดพิเศษ เป็นวิธีการที่ไม่เจ็บปวด ใช้เวลาไม่นาน เป็นการตรวจหาค่าความหนาแน่นของกระดูกตามส่วนต่างๆ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก ข้อมือ และกระดูกทั้งตัว ซึ่งจะได้ค่าเป็นตัวเลขว่ามีภาวะกระดูกพรุนมากน้อยเพียงใด
ควรตรวจวัดมวลกระดูกตอนไหนดี ?
- ผู้ที่มีอาการปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยง ควรเริ่มตรวจความหนาแน่นกระดูกเมื่ออายุ 60 ปี
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เคยมีประวัติกระดูกหักในครอบครัวจากภาวะกระดูกพรุน หรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจความหนาแน่นกระดูกเร็วขึ้น
หากมีความสงสัย หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูร่างกาย ตรวจหาความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนและกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร อย่ารอให้มีอาการกระดูกหักก่อน หากรู้ก่อนสามารถรักษาได้ทันท่วง
โรคกระดูกพรุน ...มีวิธีการรักษาอย่างไร
การรักษาภาวะกระดูกพรุน แบ่งเป็น 2 วิธี คือ
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่กล่าวไปแล้ว และเน้นภาวะโภชนาการที่มีแคลเซียม และวิตามินดีที่เพียงพอต่อร่างกาย การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยสร้างกระดูกแล้ว ยังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ตลอดจนช่วยเรื่องการทรงตัวด้วย
- การรักษาโดยใช้ยา มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแล และพิจารณาถึงประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และความสะดวกในการใช้ยาของผู้ป่วย
วิธีป้องกัน โรคกระดูกพรุน ง่ายๆก่อนที่จะสาย...!!!
- รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดีซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รวมถึงสารคาเฟอีน เนื่องจากมีผลทำลายกระดูก
- ตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 60 ปีควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูกเพื่อป้องกันการเสื่อมแต่เนิ่นๆ
ดังนั้นการป้องกัน คือทางเลือกที่ดีที่สุด รู้ก่อน รักษาได้อย่างทันท่วงที ผู้สูงอายุและสตรีทุกท่านควรตระหนักถึง “ภาวะกระดูกพรุน” ควรดูแลสุขภาพของกระดูกตั้งแต่เด็ก หรือก่อนวัยหมดระดู หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และควรได้รับการตรวจคัดกรองกระดูกพรุนเป็นประประจำ เพื่อได้รับการดูแลรักษาป้องกันกระดูกหักที่มีประสิทธิภาพ
สนับสนุนข้อมูลโดย: นพ. กลยุทธ ตัณนิติศุภวงษ์ แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ (Spine), ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedic Surgery)
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ศัลยกรรมกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อเข่า ข้อไหล่ และสะโพก โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ศัลยกรรมกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อเข่า ข้อไหล่ และสะโพก